กทม.เฝ้าพื้นที่เสี่ยงไข้เลือดออก
กทม.เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงไข้เลือดออกระบาดพื้นที่เขตภาษีเจริญ และบางแค กำชับเจ้าหน้าที่เร่งกำจัดยุงลาย หลังพบผู้ป่วยในพื้นที่เสียชีวิตระหว่างรักษาตัวที่ รพ.ระยอง
วันนี้ ( 27 ธ.ค.) พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงกรณีพบผู้ป่วยไข้เลือดออกวัย 15 ปี เสียชีวิต 1 ราย หลังรับการรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์ระยองว่า ทางสำนักอนามัย กทม.ได้เข้าสอบสวนโรคในชุมชนที่ผู้ป่วยพักอาศัย เพื่อประเมินสถานการณ์การระบาด และดำเนินการควบคุมการระบาดของโรคอย่างเร่งด่วนไปเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2555 โดยเจ้าหน้าที่สำนักอนามัย และสำนักงานเขตภาษีเจริญและบางแค ดำเนินการคุมโรคไข้เลือดออกอย่างเข้มงวด ทั้งในโรงเรียนของผู้ป่วยซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เขตภาษีเจริญ และที่บ้านพักผู้ป่วยในพื้นที่เขตบางแค โดยมีการพ่นสารเคมีกำจัดยุง ประชาสัมพันธ์และให้สุขศึกษาแก่ครู นักเรียน ในโรงเรียน ประชาชนในหมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียง ดำเนินการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นดังกล่าวเป็นเวลา 28 วัน นับจากพบผู้ป่วยรายล่าสุด
สำหรับผู้ป่วยที่เสียชีวิตหลังรับการรักษารายดังกล่าว ขณะเริ่มป่วยพักอยู่กับญาติในพื้นที่เขตบางแค โดยเริ่มมีอาการป่วยเป็นไข้ มีน้ำมูก เจ็บคอ เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2555 และพักที่ห้องพยาบาลของโรงเรียน หลังจากนั้น วันที่ 14 ธ.ค.2555 มีอาการหน้าแดง มือแดง จึงไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งแพทย์ได้ให้ยากลับไปรับประทานที่บ้าน วันที่ 16 ธ.ค.2555 มีอาการปวดท้อง อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้ จึงไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลรัฐอีกแห่งหนึ่ง แพทย์สงสัยเป็นไข้เลือดออก หลังจากนั้น ผู้ป่วยได้กลับไปอยู่กับผู้ปกครองที่ จ.ระยอง วันที่ 17 ธ.ค.2555 ผู้ป่วยมีอาการถ่ายดำ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์ระยอง และเสียชีวิตในวันที่ 19 ธ.ค.2555
พญ.มาลินี กล่าวอีกว่า เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออก มีความรุนแรง จึงได้กำชับให้ทุกหน่วยงานเข้มงวดมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรคไข้เลือดออกในพื้นที่เสี่ยง เช่น โรงเรียน ชุมชนอย่างเข้มงวด สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในกรุงเทพมหานคร (ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-22 ธ.ค.2555) พบผู้ป่วย 9,438 ราย (อัตราป่วย 166.31 รายต่อประชากรแสนคน) และมีผู้เสียชีวิตสะสม 5 ราย โดยเขตภาษีเจริญพบผู้ป่วย 194 ราย และในเขตบางแคพบผู้ป่วย 396 ราย
ทั้งนี้ จึงขอความร่วมมือประชาชน ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในชุมชนและบ้านของตนเอง รวมทั้งเฝ้าระวังไม่ให้มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นในชุมชน หากพบผู้ป่วยเป็นไข้นานกว่า 1 วัน ต้องรีบพบแพทย์ทันที พร้อมโทร.แจ้งศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักงานเขตในพื้นที่ หรือโทรสายด่วน กทม.1555 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อกทม.จะได้จัดส่งทีมเคลื่อนที่เร็วเข้าตรวจสอบพื้นที่เพื่อกำจัดแหล่งพาหะของโรค และระงับการแพร่ระบาดของโรคทันที
ที่มา : หนังสือพิมพ์ astv ผู้จัดการ