“กทม.-สสส.” ลุยสร้างกระแสรักสุขภาพ จับคนกรุง ฟิตร่างกาย

หนุนเพิ่มพื้นที่ออกกำลังกาย 10% หวังลดภาวะเสี่ยงต่อโรค

 “กทม.-สสส.” ลุยสร้างกระแสรักสุขภาพ จับคนกรุง ฟิตร่างกาย

          เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดยสำนักวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยว ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินการส่งเสริมการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อสุขภาพ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดยมี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์  บริพัตร  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสส. ร่วมลงนาม

 

           ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์   บริพัตร  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  กล่าวว่า   แม้ประชาชนจะเริ่มสนใจการออกกำลังกายเพิ่มขึ้น แต่กว่า 70 % กลับพบว่าคนไทยยังออกกำลังกายต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน หรือน้อยกว่า 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยเฉพาะ คนกรุงเทพ กว่า 26% ออกกำลังกายไม่เพียงพอ เนื่องจากการไม่มีเวลา ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ในที่ทำงาน จึงเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่าย  ทั้งนี้จากผลการสำรวจพฤติกรรมการออกกำลังกายของคนไทยในปี 2550 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีจำนวนผู้ออกกำลังกายทั้งสิ้น 16.3 ล้านคน ซึ่งเยาวชนเป็นกลุ่มที่ออกกำลังกายมากที่สุด 73% เนื่องจากอยู่ในวัยเรียน ขณะที่วัยทำงานมีอัตราการออกกำลังกายน้อยที่สุด คือ 20% ทั้งที่การออกกำลังกายถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันโรคที่สำคัญ โดยพบว่า ผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน จะมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยเพียง 17 %ขณะที่ผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย จะมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยสูงถึง  68 %หรือ จำนวน 9.2 ล้านคน ของจำนวนประชากรอายุ 11 ปีขึ้นไป   

 

          กรุงเทพฯแม้ จะเป็นเมืองแออัด มีพื้นที่จำกัดแต่ก็มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและมีสถานที่สำหรับออกกำลังกาย เช่น สนามกีฬา สวนสาธารณะ ลานกีฬาของชุมชน หรือแม้แต่พื้นที่ว่างใต้ทางด่วน รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ ที่พร้อมจะให้บริการดูแลเรื่องการออกกำลังกายของประชาชน ดังนั้น กทม.และสสส. จึงมีนโยบายส่งเสริมให้ออกกำลังกาย ยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยจัดให้มีลานกีฬา สวนสาธารณะ ศูนย์กีฬา และสโมสรกีฬา ในสังกัดกทม.กระจายทั้งหมด 50 เขต เพื่อส่งเสริมการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อสุขภาพ จึงเกิดการความร่วมมือในการสร้างกิจกรรมส่งเสริมการออกกำลังกายและกีฬาให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์  กล่าว

 

           นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า   ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นการสร้างค่านิยมเพื่อปรับพฤติกรรมของคนกรุงเทพฯให้หันมาออกกำลังกายมากขึ้น  คาดว่าภายใน1ปีจะมีคนออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่น้อยกว่า1แสนคน และจะมีพื้นที่เพื่อใช้ในการออกกำลังกายไม่น้อยกว่า 10%  อีกทั้งยังขับเคลื่อนเครือข่ายสุขภาพให้กระจายทั่วทุกพื้นที่ในกรุงเทพฯ ส่งผลดีต่อคุณภาพประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำว่า หากคนทั่วไป หันมาออกกำลังกาย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที ในรูปแบบที่เหมาะสมกับวัยและสภาพร่างกาย จะมีผลทำให้หัวใจ ปอดทำงานดีขึ้น ช่วยลดความเสี่ยง จากโรคที่คนเมืองกำลังป่วยมากที่สุดในเวลานี้ เช่น โรคอ้วนโรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน มะเร็ง โรคเครียดและปัญหาสุขภาพจิต เพราะการออกกำลังกายจะให้ผลทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านสังคม และแม้แต่ด้านปัญญา  ดังคำกล่าวที่ว่าร่างกายที่แข็งแรง มาจากจิตใจที่เข้มแข็ง

 

 

 

 

 

 

ที่มา : สำนักข่าว สสส.

 

 

Update: 11-12-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: อภิชัย วรสิทธิ์ขจร

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ