กฎหมายเกี่ยวกับสินค้าไม่ปลอดภัย หนทางเยียวยาผู้บริโภค
มาตรการด้านเยียวยา เมื่อผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการใช้สินค้า
จากข่าวคราวเกี่ยวกับ “สินค้าที่ไม่ปลอดภัย” ของผู้ผลิตในประเทศจีน อินเดีย เช่น ยาสีฟันที่มีสารเคมี (สารไดเอไธลีน ไกลโคล) ที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ หรือกรณีของเล่นเด็กที่ใช้สีที่หลุดออกง่าย และมีสารปนเปื้อนที่ไม่ปลอดภัยอย่างตะกั่วในปริมาณสูงมีผลต่อสมองและพัฒนาการของเด็กถูกผู้จำหน่ายในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทของเล่นในสหรัฐอเมริกาเรียกคืนจากผู้บริโภคในท้องตลาดและส่งคืนผู้ผลิต หรือปัญหารถยนต์ที่ไม่ปลอดภัยในการขับขี่ เช่น ระบบเบรก, พวงมาลัย, เครื่องยนต์ดับหรือขัดข้อง เป็นต้น ทั้งๆ ที่เป็นรถยนต์ใหม่ที่เพิ่งใช้งานไม่นาน จนเคยมีข่าวการทุบรถเพื่อเรียกร้องให้บริษัทผลิตรถยนต์รับผิดชอบ
จะเห็นว่า สินค้าที่ไม่ปลอดภัยล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องสำอาง ฯลฯ
การแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่ปลอดภัยนั้นจะต้องใช้มาตรการเชิงป้องกันและเยียวยา ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของภาครัฐและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะมาตรการด้านเยียวยา เมื่อผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการใช้สินค้าที่ไม่ปลอดภัยแล้วจะมีช่องทางแก้ไขอย่างไร ในต่างประเทศมีกฎหมายว่าด้วยความรับผิดในผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า “Product Liability Law” เป็นเวลากว่า 20 ปี ไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ประเทศสหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, บราซิล, จีน เป็นต้น
ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเรื่องสินค้าที่ไม่ปลอดภัยโดยเฉพาะ แม้จะมีการริเริ่มจัดทำมาเป็นเวลานับสิบปี แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ
ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในช่วงที่ผ่านมาคือ แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน คณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจัดสัมมนาเรื่อง “ความสำคัญของร่างพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. …” (หรือที่เรียกว่า ร่างกฎหมาย PL) เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2550 ซึ่งผู้เข้าประชุมส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภค และยังเป็นผลดีแก่ผู้ประกอบการในประเทศในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ส่งเสริมผู้ประกอบการที่ดี ซึ่งผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัย ผู้บริโภคที่ได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพอนามัย จิตใจ และทรัพย์สิน เช่น ค่ารักษาพยาบาล, ค่าชดเชยทรัพย์สินที่เสียหาย, ค่าเสียหายที่ขาดประโยชน์ทำหามาได้ เป็นต้น
ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้รวมเอาเรื่อง “บริการ” ไว้ในร่างพระราชบัญญัตินี้ เนื่องจากกฎหมายไทยยังให้ความคุ้มครองผู้บริโภคในด้านบริการที่ไม่ปลอดภัยหรือไม่ได้มาตรฐานน้อยมาก อีกทั้งกระแสการค้าเสรีก็มีสัดส่วนของภาคบริการสูงมากเมื่อเทียบกับสินค้าทั่วไป และเห็นว่าควรครอบคลุมถึงกรณีอาคาร ที่อยู่อาศัยที่สร้างอย่างไม่ปลอดภัย และผลิตผลเกษตรกรรมที่ผ่านกระบวนการผลิตแล้ว ผู้เข้าประชุมที่มาจากภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมก็เห็นด้วยกับร่างกฎหมาย PL เพราะจะช่วยคุ้มครองผู้ประกอบการในประเทศที่ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมีความรับผิดชอบต่อสังคม และยังช่วยแก้ปัญหาการนำเข้าสินค้าด้อยคุณภาพที่มีราคาถูกจากต่างประเทศโดยอ้อม
กฎหมายปัจจุบันของไทย ผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ประกอบการที่ทำละเมิดหรือก่อความเสียหายได้อยู่แล้ว แต่จะต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าตนได้รับความเสียหายจากผู้ประกอบการจริง และความเสียหายนั้นเกิดจากความผิดหรือการกระทำของผู้ประกอบการ ผู้เสียหายจะต้องรู้ถึงกระบวนการหรือขั้นตอนผลิตสินค้าชนิดนั้น ซึ่งมักจะเป็นเรื่องเทคนิค ใช้เทคโนโลยีซับซ้อน เกินกว่าความรู้ ความเข้าใจของคนทั่วไป แต่การฟ้องตามร่างกฎหมาย PL นี้ ผู้บริโภคมีภาระพิสูจน์ว่าตนได้รับความเสียหายจากการใช้สินค้าที่ไม่ปลอดภัย แต่ไม่ต้องมีภาระพิสูจน์ว่า ความเสียหายเกิดจากข้อบกพร่องในขั้นตอนการผลิตใดหรือชิ้นส่วนใดที่เสียหาย
เรื่องที่น่ายินดีคือเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2550 ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเห็นชอบในวาระหนึ่งต่อร่างพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. ….” ในส่วนของภาคประชาสังคมก็มีความพยายามเสนอร่างพระราชบัญญัติชื่อเดียวกันนี้เช่นกัน
ร่างกฎหมาย PL จึงเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้บริโภคหรือประชาชนทุกคน รวมทั้งผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะจะช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการไทย อย่างไรก็ดี การฟ้องร้องคงมิใช่วิธีการแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่ปลอดภัยทางเดียว และมิใช่วัฒนธรรมของคนไทยที่จะฟ้องร้องกันหากไม่ใช่เรื่องที่ร้ายแรงจริงๆ เพราะต้องเสียค่าใช้จ่าย เสียเวลาในการดำเนินคดีหลายปี ไม่คุ้มกับค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนที่จะได้รับ ความกังวลของผู้ประกอบการบางรายที่เห็นว่าร่างกฎหมาย PL จะทำให้มีการฟ้องร้องจำนวนมากจึงไม่เป็นความจริง ฉะนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจจะต้องหาวิธีการแก้ไขอื่นๆ อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะมาตรการเชิงป้องกันที่ต้องเร่งผลักดันออกมาโดยเร็ว จึงจะแก้ไขปัญหาสินค้าไม่ปลอดภัยอย่างแท้จริง
สสส. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ www.thaihealth.or.th สอบถาม 0-22980500 ต่อ 1222
เรื่องโดย : ไพศาล ลิ้มสถิตย์ แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
Update 25-07-51