กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดอุบัติเหตุปีใหม่ 2562
ที่มา: กระทรวงสาธารณสุข
แฟ้มภาพ
ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างแนวทางการบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อสนับสนุนการควบคุมและลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตของประชาชนไทยในเทศกาลปีใหม่ ปี 2562
กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รักษาราชการแทนตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครั้งที่ 2/2561 และให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างแนวทางการบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อสนับสนุนการควบคุมและลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตของประชาชนไทยในเทศกาลปีใหม่ ปี 2562 ซึ่งพบว่าการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ทุกปี มีสาเหตุจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นจำนวนมาก ในเทศกาลปีใหม่ปี 2561 พบว่าเกิดอุบัติเหตุ 3,841 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 423 คน สาเหตุสูงสุดจากการเมาสุรา ร้อยละ 28.24 โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1.ขอความร่วมมือห้างสรรพสินค้า สถานที่ท่องเที่ยว ประชาสัมพันธ์เรื่องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมาไม่ขับ ห้ามบริโภคขณะขับขี่และขณะโดยสารใน/บนรถ 2.ตั้งจุดตรวจ จุดสกัดในพื้นที่จุดเสี่ยงจุดอันตราย หรือจุดที่มีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เข้มงวดมาตรการดื่มไม่ขับ 3.ตั้งด่านชุมชน สกัดกลุ่มเสี่ยงและลดพฤติกรรมเสี่ยง อาทิ เมาแล้วขับ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ไม่สวมหมวกนิรภัย 4.ให้สำนักงานขนส่งทุกจังหวัดเข้มงวดตรวจสอบผู้ขับขี่รถประจำทางห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งก่อนและขณะขับรถเด็ดขาด ห้ามขับรถเร็ว และห้ามขายสิ่งของและจอดรถบริเวณไหล่ทาง 5.เชิญชวนจิตอาสาจากสมาชิกของชุมชนร่วมทำความดีด้วยหัวใจ สอดส่อง เฝ้าระวัง และตักเตือนผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง และรณรงค์ให้คนในหมู่บ้านตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามกฎจราจรและรักษาวินัยจราจรอย่างเคร่งครัด 6.ตรวจสอบการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานบริการ สถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ โดยเฉพาะการขายในบุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และห้ามขายรอบสถานศึกษา โดยมอบฝ่ายเลขาฯ นำประเด็นข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ ไปปรับปรุงร่างแนวทางดังกล่าว และเสนอในการประชุมคณะกรรมการนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติครั้งต่อไป